วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

วิธีเน้นความโดดเด่นให้กับภาพถ่ายทิวทัศน์ระยะไกลด้วยเอฟเฟ็กต์ย่อส่วน


    หากคุณรู้สึกเบื่อกับภาพถ่ายวิวแบบปกติ ทำไมไม่ลองใช้คุณสมบัติฟิลเตอร์สร้างสรรค์ดูบ้างล่ะ คุณสามารถใช้ฟิลเตอร์สร้างสรรค์เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ย่อส่วน ซึ่งจะเพิ่มความรู้สึกน่าสนใจให้กับภาพถ่ายทิวทัศน์ระยะไกลที่ดูน่าเบื่อได้

EF-S18-55mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 31 มม./ Program AE (f/9, 1/200 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ/ เอฟเฟ็กต์ย่อส่วน
ในภาพตัวอย่างทั้งสองภาพข้างต้นนี้ ฟิลเตอร์สร้างสรรค์ถูกนำมาใช้กับรูปด้านล่าง ไม่ใช่รูปด้านบน ซึ่งเอฟเฟ็กต์ที่ได้จากทั้งสองภาพมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่เอฟเฟ็กต์ย่อส่วนในตัวอย่างด้านล่างดูเหมือนว่าจะไม่เพียงพอ บางทีอาจเป็นเพราะมุมการถ่ายภาพนั้นอยู่ใกล้กับแนวนอนมาก

ขั้นตอนที่ 2: ขับเน้นเอฟเฟ็กต์ย่อส่วนด้วยมุมมองจากด้านบน

EF-S18-55mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 31 มม./ Program AE (f/9, 1/200 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ/ เอฟเฟ็กต์ย่อส่วน
เล็งกล้องเฉียงลงต่ำเพื่อสร้างมุมมองจากมุมสูงที่ชัดเจนขึ้น เอฟเฟ็กต์ย่อส่วนจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อถ่ายภาพในมุมสูงขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการถ่ายภาพดังกล่าวคือการโฟกัส ในตัวอย่างด้านบน ผมจับโฟกัสที่ชิงช้าสวรรค์ขณะเบลอพื้นที่ด้านบนและด้านล่าง

ขั้นตอนที่ 3: ถ่ายภาพในแนวตั้ง

EF-S18-55mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 26 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/640 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ/ เอฟเฟ็กต์ย่อส่วน
ในภาพนี้ ผมลองถ่ายภาพในแนวตั้ง ซึ่งจะทำให้พื้นที่โฟกัสแคบลงกว่าเดิมเมื่อใช้ฟิลเตอร์สร้างสรรค์เอฟเฟ็กต์ย่อส่วน สำหรับภาพทิวทัศน์ที่งดงามตระการตาดังเช่นภาพที่เห็นในตัวอย่าง การใช้ฟิลเตอร์เพื่อถ่ายภาพในแนวนอนอาจให้ผลลัพธ์ของภาพที่ดีกว่า

ขั้นตอนที่ 4: ทำให้ภาพดูแผ่กว้างมากขึ้น

EF17-40mm f/4L USM/ FL: 30 มม./ Program AE (f/8/, 1/500 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ/ เอฟเฟ็กต์ย่อส่วน
ผมพยายามถ่ายภาพในบริเวณที่กว้างมากขึ้นกว่าภาพในขั้นตอนที่ 2 องค์ประกอบที่อยู่ด้านบนและด้านล่างขององค์ประกอบภาพจะเบลอยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก ดังนั้น ผลลัพธ์ที่ได้คือภาพเอฟเฟ็กต์ย่อส่วนที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร

ตรวจดูเอฟเฟ็กต์อย่างระมัดระวัง

การใช้ฟิลเตอร์สร้างสรรค์เอฟเฟ็กต์ย่อส่วนช่วยเพิ่มความรู้สึกที่โดดเด่นให้กับภาพถ่ายทิวทัศน์ระยะไกลของคุณ เอฟเฟ็กต์นี้มีจุดเด่นเรื่องพื้นที่เบลอที่ด้านบนและล่าง หรือด้านซ้ายและขวาของภาพอย่างเห็นได้ชัด ความเปรียบต่างและความอิ่มตัวของสียังเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งขับเน้นภาพย่อส่วนให้มีโทนสีโดดเด่นขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ เอฟเฟ็กต์โบเก้ยังเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อคุณถ่ายภาพวิวบนท้องถนน เมื่อเทียบกับภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ นั่นเป็นเพราะความเปรียบต่างระหว่างพื้นที่ที่อยู่ในโฟกัสและพื้นที่ที่อยู่นอกโฟกัสชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับตัวแบบที่มีส่วนขอบเห็นได้ชัดเจน อีกนัยหนึ่งคือ ขอแนะนำให้คุณพิจารณาถึงความชัดเจนของเอฟเฟ็กต์ที่จะได้รับเมื่อใช้เอฟเฟ็กต์ฟิลเตอร์สร้างสรรค์ในการถ่ายภาพท้องถนน

คำแนะนำ: ตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้รวมองค์ประกอบต่างๆ ไว้ในพื้นที่ที่เบลอแล้ว

EF-S18-55mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 55 มม./ Program AE (f/10, 1/250 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ/ เอฟเฟ็กต์ย่อส่วน
เมื่อใช้ฟิลเตอร์ชนิดนี้ เอฟเฟ็กต์ที่ได้จะลดลงอย่างมากหากองค์ประกอบที่เบลอนั้นไม่ได้นำมารวมไว้ในองค์ประกอบภาพ ในภาพด้านบนซึ่งมีการใช้ฟิลเตอร์สร้างสรรค์แบบเดียวกัน เราแทบมองไม่เห็นเอฟเฟ็กต์ย่อส่วนเลย เนื่องจากภาพโบเก้ที่สร้างขึ้นบนท้องฟ้าและทะเลนั้นไม่เป็นที่สะดุดตา


แหล่งอ้างอิง: 

 Teppei Kohno (2016). บทความเรื่องวิธีเน้นความโดดเด่นให้กับภาพถ่ายทิวทัศน์ระยะไกลด้วยเอฟเฟ็กต์ย่อส่วน
สืบค้นจาก https://snapshot.canon-asia.com/article/th/step-by-step-how-to-accentuate-distant-landscapes-with-miniature-effects






การใช้ชัตเตอร์ต่ำสร้างภาพเบลอแบบหมุนที่เหนือจริง

เมื่อเราใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในผลงาน แม้แต่ฉากที่ดูธรรมดามากที่สุดรอบตัวเราก็อาจกลายเป็นภาพถ่ายที่น่าสนใจได้ ดังเช่นในบทความเกี่ยวกับการถ่ายภาพการแสดงดอกไม้ไฟด้วยมืออย่างไรให้มีศิลปะ ของเราได้อธิบายไว้ เราสามารถใช้การขยับกล้องเพื่อสร้างภาพเบลอแบบตั้งใจจนเกิดเอฟเฟ็กต์แอบสแทรกต์ที่ดึงความสนใจจากผู้ชมได้ ต่อไปนี้เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่คล้ายกันคือ ศิลปะของการสร้างสรรค์ภาพเบลอแบบหมุน (เรื่องโดย: Kazuo Nakahara)
1/8 วินาที
EOS 5D Mark III/ FL: 24 มม./ Shutter-priority AE (f/9, 1/8 วินาที, EV+0.7)/ ISO 800/ WB: แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว

การหมุนกล้องระหว่างเปิดรับแสง

นี่คือภาพถ่ายทางเดินใต้ดินที่คนทำงานกำลังเดินตรงไปยังสถานีอย่างรีบเร่ง กลไกที่อยู่เบื้องหลังภาพถ่ายนี้อันที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนแต่อย่างใด ผมเพียงแค่หมุนกล้องไประหว่างที่เปิดรับแสงและใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเท่านั้น ซึ่งเมื่อหมุนกล้องเพื่อเบลอภาพอย่างจงใจ บริเวณกึ่งกลางภาพจะยังคงคมชัด และจากนั้นจึงค่อยเบลอขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขอบภาพ จนเกิดเป็นเอฟเฟ็กต์ที่ดูราวกับผู้ชมถูกดึงเข้าไปในจุดกึ่งกลางของก้นหอย 
ลองเริ่มต้นด้วยการมองหาฉากที่อาจกลายเป็นภาพที่น่าทึ่งได้เมื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ภาพเบลอแบบหมุน การใช้เลนส์มุมกว้างทำให้เราสามารถระบุจุดกึ่งกลางของวงกลมได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกัน ยังช่วยสร้างภาพเบลอที่บริเวณขอบภาพได้มากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ การรวมผู้คนหรือตัวแบบอื่นๆ ไว้ที่บริเวณนอกสุดของภาพยิ่งทำให้เอฟเฟ็กต์ภาพเบลอดูโดดเด่นขึ้น
ขณะที่ทำเช่นนั้น ควรดูให้แน่ใจว่าได้ปิดใช้งานฟังก์ชั่นระบบป้องกันภาพสั่นไหวแล้ว จากนั้นตั้งค่าโหมดการถ่ายไปที่ ระบุค่าความเร็วชัตเตอร์ (Shutter-priority AE) ใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/8 วินาที และถ่ายภาพในระหว่างที่หมุนกล้องให้สัมพันธ์กับจุดกึ่งกลางของเลนส์
หากคุณกำลังใช้กล้อง DSLR ให้มองเข้าไปในช่องมองภาพและหมุนกล้องให้สัมพันธ์กับจุด AF กึ่งกลางเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะเก็บภาพได้เป็นผลสำเร็จ นอกจากนี้ อย่าลืมกดปุ่มชัตเตอร์ในขณะที่หมุนกล้อง โดยปกติ ผลลัพธ์จะออกมาไม่ดีนักหากคุณพยายามกดปุ่มชัตเตอร์ในขณะที่เริ่มต้นหมุนกล้อง วิธีที่ดีที่สุดคือ หมุนกล้องด้วยความเร็วที่ค่อนข้างเร็วกว่าเพื่อให้ได้เส้นของก้นหอยที่สวยงามยิ่งขึ้น
ตอนแรกเทคนิคนี้อาจมีความยากอยู่บ้าง แต่เมื่อได้ฝึกถ่ายจนเกิดความชำนาญแล้ว คุณจะสามารถปรับใช้เทคนิคดังกล่าวได้ทุกที่ทุกเวลา เพื่อขยายขอบเขตการสื่ออารมณ์ภาพให้กว้างมากขึ้น

จุดที่ 1: หาฉากที่เหมาะสมสำหรับการใช้เอฟเฟ็กต์ภาพเบลอแบบหมุน


เอฟเฟ็กต์ก้นหอยจะดูตระการตามากยิ่งขึ้นเมื่อตัวแบบหลักอยู่ที่บริเวณกึ่งกลางภาพ ดอกไม้หรือผู้คนทำให้ตัวแบบดูน่าสนใจและเอฟเฟ็กต์นี้จะออกมาสวยสดงดงามเมื่อใช้ การจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลาง

จุดที่ 2: ตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/8 วินาที

ภาพตัวอย่างด้านบนถ่ายด้วยค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/30 วินาที เมื่อความเร็วชัตเตอร์เร็วเกินไป ความเบลอของภาพจะลดลง และเอฟเฟ็กต์ที่ได้จะไม่ตรงตามที่ตั้งใจไว้เท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม อาจเป็นเรื่องยากที่จะถ่ายภาพแบบถือด้วยมือหากความเร็วชัตเตอร์ต่ำเกินไป โดยส่วนตัวแล้วผมจึงคิดว่าค่า 1/8 วินาทีนั้นมีความสมดุลมากที่สุด

จุดที่ 3: ถือกล้องให้มั่นคงและหมุนอย่างระมัดระวัง

ในขณะที่หมุนกล้อง ควรกดข้อศอกแนบกับลำตัว ถือกล้องให้มั่นคง และค่อยๆ หมุนกล้องด้วยมือซ้ายซึ่งประคองเลนส์ไว้ที่จุดกึ่งกลาง อีกทั้งตรวจสอบจนแน่ใจว่าได้ถือกล้องไว้ใกล้กับตัว


EOS 5D Mark III (เฉพาะบอดี้)




แหล่งอ้างอิง: 

Kazuo Nakahara, Digital Camera Magazine (2016). บทความเรื่องการใช้ชัตเตอร์ต่ำสร้างภาพเบลอแบบหมุนที่เหนือจริง
สืบค้นจาก https://snapshot.canon-asia.com/article/th/slow-shutter-art-creating-surreal-spinning-radial-blurs

Shavonne Wong ช่างภาพแฟชั่นผู้ฝึกฝนตัวเอง

ช่างภาพสาวชาวสิงคโปร์คนนี้เลือกเส้นทางการถ่ายภาพด้วยตัวเธอเองระหว่างรอเข้าวิทยาลัยเมื่อ 5 ปีก่อน และได้รับฉายาใน Herworld ว่าเป็นหนึ่งใน "25 Scene Shakers Under 25 (25 ผู้เขย่าโลกการถ่ายภาพที่อายุต่ำกว่า 25 ปี)" เมื่อปี 2012 วันนี้ Cosmopolitan ฮ่องกง, คณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ และ Metro เป็นส่วนหนึ่งในลูกค้าของเธอ

ภาพนี้ถ่ายที่สถานีรถไฟแกรนด์เซ็นทรัล นิวยอร์ก ได้รับเลือกเป็นผู้ชนะรางวัลทองคำในการประกวด Graphis Photography Annual 2015
แต่ทุกอย่างเริ่มต้นอย่างเรียบง่ายมาก ช่างภาพชาวสิงคโปร์อย่าง Shavonne Wong ไม่ได้วางแผนจะเป็นมือหนึ่งตั้งแต่ต้น เธอเรียนการทำแอนิเมชั่น 3D ที่วิทยาลัยและตั้งใจจะไปศึกษาต่อที่แวนคูเวอร์ ในระหว่างฆ่าเวลาก่อนโรงเรียนเปิด Shavonne ซึ่งมีอีกชื่อว่า Zhiffy เปิดนิตยสารแฟชั่นดูเล่นและตัดสินใจหัดถ่ายภาพแฟชั่นเป็นงานอดิเรก ภายในเวลาไม่กี่เดือน เธอคิดว่า เธอได้พบกับ "ลิขิตชีวิต" แล้ว เรื่องราวต่อจากนั้นมาจึงกลายเป็นประวัติศาสตร์...อย่างที่เขามักพูดกัน
ภาพถ่ายใน Her World Brides 2014 ฉบับประเทศสิงคโปร์

1. อะไรเป็นแรงจูงใจให้คุณเลือกเติบโตในด้านการถ่ายภาพ

มันเป็นเรื่องราวที่ไม่ได้น่าจะสร้างแรงบันดาลใจอะไร ไม่มีคุณปู่มาส่งมอบกล้องรุ่นโบราณให้แล้วบอกว่าฉันต้องสืบทอดมรดกนี้ ตอนนั้น ฉันจบคอร์สฝึกงานก่อนเพื่อนๆ หลายคนถึงสองเดือน เลยมีเวลาว่างมาก และไม่มีเพื่อนให้ไปไหนมาไหนด้วย ว่าง่ายๆ คือ เบื่อค่ะ

2. อะไรทำให้เลือกฝึกถ่ายภาพเองแทนที่จะไปเรียนในโรงเรียนศิลปะ

ฉันเดาว่า ฉันไม่ไปโรงเรียนศิลปะตอนนั้น เพราะฉันเริ่มถ่ายภาพโดยไม่ได้คิดว่ามันจะกลายมาเป็นเส้นทางอาชีพของฉันน่ะ มันเป็นแค่งานอดิเรกสนุกๆ จนกระทั่งฉันเริ่มถ่ายแล้วได้เงิน

3. คุณคิดว่าสไตล์ในการถ่ายภาพของคุณเป็นอย่างไร

มีสีสัน สื่ออารมณ์ และเกินจริง

4. คุณเผชิญปัญหาอะไรบ้างตอนเริ่มงานสายนี้ใหม่ๆ

ตอนที่ฉันยังไม่มีพอร์ตโฟลิโอพื้นฐาน เป็นช่วงที่หาคนร่วมงานด้วยยาก ไม่ค่อยมีใครอยากลงเวลาลงแรงทำงานด้วย (กับฉัน) โดยที่ไม่รู้ว่าเขาจะได้รับประโยชน์รึเปล่า

5. อะไรคือทักษะหนึ่งอย่างที่คุณคิดว่าช่างภาพทุกคนต้องมี

ความอดทน สิ่งต่างๆ ย่อมใช้เวลาและถ้าคุณเปรียบเทียบตัวเองกับความสำเร็จของคนอื่นๆ คุณจะลงเอยที่ความขมขื่นและหงุดหงิดใจ จงสนุกไปกับมัน

6. มีการถ่ายภาพครั้งไหนที่พิเศษสำหรับคุณไหม

อืม...การถ่ายภาพทุกๆ ครั้งก็ยอดเยี่ยมในตัวมันเองนะ อาจเป็นเรื่องของทีมงาน สถานที่ และเสื้อผ้ามากกว่า ฉันพยายามทำให้ดีที่สุดทุกครั้ง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นวิธีการพัฒนาที่ดีที่สุด
การถ่ายภาพครั้งหนึ่งระหว่างพักอยู่ที่ SVA ซึ่งเธอสามารถเข้าออกสตูดิโอได้ฟรี ลูกโป่งที่ทำจากสไตโรโฟมและมีกลิตเตอร์ติดอยู่

7. คุณเดินทางไปนิวยอร์กซิตี้ตอนปี 2014 เพื่อเรียนคอร์สฝึกทักษะหนึ่งเดือนที่ School of Visual Arts (SVA) ช่วยเล่าถึงประสบการณ์ในครั้งนั้นให้เราฟังหน่อยได้ไหม

ฉันอยากไปนิวยอร์กเพื่อค้นหาตัวเองมานานแล้ว ฉันคงจะไม่สามารถทำอะไรสำเร็จได้โดยไม่มีโครงสร้างอะไรเลย ฉันก็เลยตัดสินใจที่จะไปเข้าคอร์สฝึกทักษะหนึ่งเดือนระหว่างที่อยู่ที่นั่น การที่ถูกบีบให้ถ่ายทอดความเป็นนิวยอร์กทุกสัปดาห์เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนา ภายในเวลาสองเดือนที่ฉันอยู่ที่นั่น ฉันถ่ายภาพไปประมาณ 8 โปรเจ็ค เมืองนี้เต็มไปด้วยพวกนักคิดสร้างสรรค์ที่มีพรสวรรค์มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นประสบการณ์ที่ดีมากจริงๆ ที่ได้ร่วมงานกับพวกเขา
โดยส่วนตัว ฉันมักจะเชียร์ให้คนไปต่างประเทศและไปถ่ายภาพ เพราะสายตา (แห่งความสร้างสรรค์) ของคนเราจะเปิดกว้างโดยธรรมชาติเมื่อเจอสภาพแวดล้อมใหม่ๆ
จากการสอบถ่ายภาพในนิวยอร์กซิตี้ ซึ่งถ่ายบนดาดฟ้าอพาร์ทเมนต์ของเพื่อนเธอ Shavonne ใช้แสงธรรมชาติเฉพาะกับภาพนี้ภาพเดียว

8. อะไรที่คุณจะพกติดกระเป๋าตลอดเวลา

นอกจากโทรศัพท์ กุญแจ และกระเป๋าเงิน ก็อาจจะมีพวกขนมจุกจิก ห่อทิชชู่เปียกจากร้านอาหาร แล้วก็ที่ชาร์จขนาดใหญ่เบ้อเร่อที่ฉันได้มาจากแฟนค่ะ

9. กล้องและเลนส์ Canon แบบไหนที่ใช้บ่อยที่สุดในช่วงนี้

กล้อง EOS 5D Mark II เลนส์ EF85mm f/1.8 USM, EF50mm f/1.2L USM และ EF35mm f/1.4L USM ฉันหวังจะได้กล้อง EOS 5D Mark III (บอดี้) และ EF135mm f/2L USM ด้วยล่ะค่ะ

แหล่งอ้างอิง:
     Shavonne Wong  (2016).  บทความเรื่องShavonne Wong  ช่างภาพแฟชั่นผู้ฝึกฝนตัวเอง
     สืบค้นจาก https://snapshot.canon-asia.com/article/th/shavonne-wong-8211-the-self-taught-fashion-photographer 






เสน่ห์ของกล้อง DSLR


เสน่ห์ของกล้อง DSLR อยู่ที่ระบบซึ่งสามารถขยายศักยภาพได้และคุณภาพภาพถ่ายที่สูงเต็มเปี่ยม ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้ถึงลักษณะเฉพาะของกล้องดิจิตอล DSLR โดยเปรียบเทียบกับกล้องดิจิตอลคอมแพค 

พลังการถ่ายทอดรายละเอียดที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง

เอฟเฟ็กต์โบเก้จากกล้องดิจิตอล SLR 
ขนาดของเซนเซอร์ภาพในกล้อง SLR ที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับกล้องดิจิตอลคอมแพคช่วยให้การสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ง่ายขึ้น แบ็คกราวด์ที่เบลอมากๆ จะช่วยขับเน้นตัวแบบหลักให้ดูโดดเด่นยิ่งขึ้น
เอฟเฟ็กต์โบเก้จากกล้องดิจิตอลคอมแพค 
ในทางกลับกัน กล้องดิจิตอลคอมแพคมีเซนเซอร์ภาพขนาดเล็ก และไม่รองรับการถอดเปลี่ยนเลนส์ จึงยากต่อการสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ขนาดใหญ่

ผลจากขนาดของเซนเซอร์ภาพต่อเอฟเฟ็กต์โบเก้

นอกจากรูปลักษณ์ภายนอก กล้อง DSLR และกล้องดิจิตอลคอมแพคยังต่างกันในเรื่องโครงสร้างภายในกล้องด้วย ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดคือ เซนเซอร์ภาพ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำหรับการรับแสงและสร้างภาพ ในขณะที่กล้องดิจิตอลคอมแพคมีเซนเซอร์ภาพขนาดเล็กเพียง 1/2 นิ้ว เซนเซอร์ขนาด APS-C ซึ่งใช้กับกล้อง DSLR โดยทั่วไปกลับมีพื้นที่ใหญ่กว่าประมาณ 10 เท่า เซนเซอร์ภาพที่ใหญ่กว่าทำให้แต่ละพิกเซลรับแสงได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มข้อได้เปรียบมากมายให้กับคุณสมบัติทางไฟฟ้า เช่น ระดับจุดรบกวนต่ำ นอกจากนี้ ความรู้สึกของภาพที่ได้ก็ต่างกันอย่างมากเมื่อมีแบ็คกราวด์เบลอ ในแง่นี้ กล้อง DSLR ซึ่งถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ จึงเหนือกว่ากล้องดิจิตอลคอมแพค ความแตกต่างของเอฟเฟ็กต์โบเก้ตามขนาดเซนเซอร์ภาพส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ หากเราเปรียบเทียบภาพสองภาพที่มีการจัดวางองค์ประกอบเหมือนกัน ทางยาวโฟกัสมีแนวโน้มจะสั้นกว่า (มุมกว้างกว่า) เมื่อพื้นที่ตรงนั้นถ่ายด้วยเซนเซอร์ภาพที่มีขนาดเล็กกว่า ทำให้สร้างแบ็คกราวด์เบลอได้ยาก ดังนั้น เหตุผลหนึ่งที่ภาพถ่ายออกมาดูแตกต่างกันมากเมื่อใช้กล้อง DSLR อาจเป็นเพราะขนาดเซนเซอร์ภาพ

ขนาดเซนเซอร์ภาพที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง

1: 35 มม.
2: 24 มม.
3: 36 มม.
พื้นที่ที่ถ่ายได้ด้วยฟิล์ม 35 มม. อยู่ที่ประมาณ 24 x 36 มม. ชื่อ “35 มม.” มาจากความกว้างของฟิล์ม
1: 24 มม.
2: 36 มม.
เซนเซอร์ฟูลเฟรมถ่ายภาพพื้นที่เดียวกันได้เหมือนกับฟิล์ม 35 มม. เซนเซอร์ชนิดนี้ส่วนใหญ่พบได้ในกล้อง EOS ซึ่งได้รับการออกแบบสำหรับช่างภาพมืออาชีพและมือสมัครเล่นระดับสูง
1: 14.9 มม.
2: 22.3 มม.
เซนเซอร์ชนิดนี้ใช้กับกล้องหลากหลายประเภท ตั้งแต่ระดับเริ่มใช้งานไปจนถึงระดับกลาง เอื้อให้ออกแบบกล้องได้มีขนาดกะทัดรัดโดยคงคุณภาพของภาพถ่ายไว้ที่ระดับสูง
1: 4.8 มม.
2: 6.4 มม.
ภาพนี้คือเซนเซอร์ขนาด 1/2 นิ้ว สำหรับกล้องดิจิตอลคอมแพค มีการใช้เซนเซอร์ CMOS หลายขนาด เช่น 1/2.5 นิ้วและ 1/1.7 นิ้ว

คุณภาพภาพถ่ายขึ้นอยู่กับขนาดเซนเซอร์ภาพเช่นกัน

ด้านบนนี้เป็นการเปรียบเทียบขนาดเซนเซอร์ภาพทั่วๆ ไปกับฟิล์ม 35 มม. เป็นหลัก เราจะเห็นได้ว่า แม้สำหรับเซนเซอร์ขนาด APS-C ซึ่งใช้กันอย่างกว้างขวาง ก็มีพื้นที่ใหญ่เพียงพอ และเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับเซนเซอร์ของกล้องดิจิตอลคอมแพค พื้นที่ของเซนเซอร์ขนาด APS-C ใหญ่กว่าเซนเซอร์ขนาด 1/2 นิ้วซึ่งใช้กับกล้องดิจิตอลคอมแพคประมาณ 10 เท่า และยิ่งมีช่องว่างกว้างกว่าเมื่อเป็นเซนเซอร์ฟูลเฟรม ซึ่งใหญ่กว่าประมาณ 28 เท่า นอกจากเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่เกิดจากขนาดเซนเซอร์ภาพที่ใหญ่กว่าแล้ว แต่ละพิกเซลภายในเซนเซอร์ภาพยังสามารถรับแสงได้มากกว่า ภาพที่ได้จึงเกิดเม็ดเกรนน้อย (มีจุดรบกวนน้อย) ขณะเดียวกัน การเกลี่ยสีจากขาวไปดำยังเป็นการขยายพื้นที่สำหรับการถ่ายด้วยเซนเซอร์ภาพอีกด้วย

การขยายขีดจำกัดการถ่ายทอดอารมณ์ด้วยความหลากหลายของเลนส์

ด้วยจำนวนเลนส์มากกว่า 70 รุ่น เลนส์ซีรีย์ EF ของ Canon ถือเป็นหนึ่งในผู้นำอันดับต้นๆ ในโลกด้านอุตสาหกรรมการถ่ายภาพ

ขยายศักยภาพของกล้อง DSLR ได้มากขึ้นด้วยเลนส์หลายชนิด

กล้องดิจิตอล SLR มีต้นกำเนิดมาจากกล้องฟิล์ม SLR และสามารถจัดการกับความต้องการด้านการถ่ายภาพที่แตกต่างกันออกไปได้ด้วยการใช้เลนส์แบบถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ ในทางกลับกัน กล้องดิจิตอลคอมแพคใช้เลนส์ซึ่งไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้ ดังนั้น ไม่ว่าเลนส์ซูมจะมีพลังมากแค่ไหน ก็เทียบไม่ได้กับเลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้สำหรับกล้อง DSLR ที่มีให้เลือกมากมาย กล้อง Canon ซีรีย์ EOS มาพร้อมกับเลนส์ EF แบบถอดเปลี่ยนได้ มีทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 8 มม. ถึง 800 มม. และชนิดต่างๆ มากมายกว่า 60 ชนิด เลนส์ EF เหล่านี้ยังมีการจัดระดับการใช้งานตามคุณสมบัติ เช่น ความสว่างและลักษณะเฉพาะของเลนส์ ดังนั้น เสน่ห์ของกล้อง DSLR จึงอยู่ที่ความสามารถในการใช้คุณสมบัติของเลนส์อย่างเต็มศักยภาพ และจุดแข็งที่โดดเด่นที่สุดคือ คุณสามารถถ่ายภาพที่ต้องการได้ง่ายๆ เพียงแค่เปลี่ยนเลนส์ ทำให้ได้ภาพที่ขยายตัวแบบให้ใหญ่ขึ้น หรือภาพมุมกว้างที่เก็บเอาบรรยากาศโดยรอบเข้าไว้ด้วย
ถ่ายภาพด้วยเลนส์ EF8-15mm f/4L Fisheye USM
EF8-15mm f/4L Fisheye USM
เลนส์นี้สามารถสร้างเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟที่ชัดเจน ทำให้ถ่ายทอดภาพด้วยมุมภาพที่กว้างกว่าที่ตาเรามองเห็นปกติ
ภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์ EF300mm f/2.8L IS II USM
EF300mm f/2.8L IS II USM
คุณสามารถสร้างภาพที่สวยสะดุดตาอย่างภาพนี้ได้ เพียงแค่ประกอบเลนส์เทเลโฟโต้เข้ากับกล้อง ซึ่งจะหยุดการเคลื่อนไหวของตัวแบบเพื่อถ่ายทอดภาพที่คมชัดออกมา

จับภาพช่วงเวลาสำคัญ

ช่องมองภาพออพติคอลช่วยให้คุณจับภาพช่วงเวลาสำคัญได้
เวลาที่คุณใช้กล้องดิจิตอลคอมแพค จะมีการหน่วงเวลาการทำงานของกล้อง
เมื่อคุณถ่ายภาพโดยมองจอ LCD บนกล้องดิจิตอลคอมแพค กล้องไม่สามารถเก็บการเคลื่อนไหวของตัวแบบได้ทันท่วงที นี่เป็นอุปสรรคสำหรับช่างภาพที่จะปล่อยชัตเตอร์ให้ตรงกับช่วงเวลาที่ต้องการ หากคุณกำลังถ่ายภาพด้วยช่องมองภาพของกล้อง SLR คุณจะสามารถถ่ายตัวแบบในเวลาที่ต้องการได้

ตอบสนองรวดเร็ว สามารถถ่ายภาพชั่วขณะที่กำลังผ่านไปอย่างรวดเร็วได้

เทียบกับกล้องดิจิตอลคอมแพค คุณสมบัติอย่างหนึ่งในการใช้กล้อง DSLR ก็คือ ความล่าช้าในการทำงานของกล้องมีน้อย กล้องดิจิตอลคอมแพคหลายรุ่นถ่ายภาพโดยใช้จอ LCD อย่างไรก็ตาม หากกล่าวกันตามจริงแล้วละก็ สิ่งที่คุณมองเห็นบนหน้าจอนั้นไม่ใช่ภาพที่กำลังเกิดขึ้นจริง แต่เป็นภาพการเคลื่อนไหวที่ผ่านไปแล้ว นี่เป็นเพราะการหน่วงเวลาที่เกิดขึ้นจากการสร้างภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตรงกันข้าม กล้อง DSLR ใช้ประโยชน์จากช่องมองภาพออพติคอล ทำให้คุณมองเห็นภาพจริงแบบไม่ดีเลย์ จึงไม่มีความล่าช้าระหว่างการเคลื่อนไหวของตัวแบบกับสิ่งที่คุณมองเห็นผ่านกล้อง นอกจากนี้ ฟังก์ชั่นโฟกัสอัตโนมัติ และกลไกต่างๆ รวมถึงกลไกสำหรับการเลื่อนชัตเตอร์บนกล้อง DSLR ยังสามารถทำงานได้รวดเร็วกว่า เหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่ช่วยให้ช่างภาพถ่ายภาพวินาทีสำคัญได้อย่างทันท่วงที ด้วยกล้อง DSLR คุณสามารถถ่ายภาพหลายสิ่งได้ง่ายๆ อาทิ การแข่งขันกีฬา และการแสดงสีหน้าที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของตัวแบบภาพพอร์ตเทรต ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากหากคุณใช้กล้องดิจิตอลคอมแพค


จดจ่อกับตัวแบบของคุณผ่านช่องมองภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อจับภาพช่วงนาทีที่ใช่

แหล่งอ้างอิง:
     Ryosuke Takahashi  (2014).  บทความเรื่องเสน่ห์ของกล้อง DSLR
     สืบค้นจาก https://snapshot.canon-asia.com/article/th/lesson-1-the-charm-of-dslr-cameras