วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

รู้จักส่วนต่างๆ ของกล้อง

     เมื่อคุณได้ถือกล้อง DSLR อยู่ในมือแล้ว เราจะมาเริ่มต้นด้วยการจดจำชื่อส่วนต่างๆ ของกล้องก่อนเริ่มใช้งานกัน ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับชื่อและฟังก์ชั่นการใช้งานเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากต่อการพัฒนาทักษะการถ่ายภาพต่อไป 

ด้านหน้า

1: ปุ่มชัตเตอร์

กดปุ่มนี้เพื่อลั่นชัตเตอร์ การกดปุ่มชัตเตอร์มี 2 จังหวะ คือเมื่อกดปุ่มลงครึ่งหนึ่งเพื่อใช้งานฟังก์ชั่นโฟกัสอัตโนมัติ และกดลงสุดเพื่อลั่นชัตเตอร์

2: เมาท์ของเลนส์

ส่วนนี้ใช้เพื่อยึดเลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้เข้ากับตัวกล้อง ต่อเลนส์โดยการเลื่อนไปตามผิวหน้าของเมาท์

3: กระจก

แสงที่เข้าสู่เลนส์จะสะท้อนจากกระจกชิ้นนี้ไปยังช่องมองภาพ กระจกนี้มีกลไกที่เลื่อนได้ และจะดีดตัวขึ้นทันทีก่อนถ่ายภาพ

4: ช่องบรรจุแบตเตอรี่

บรรจุแบตเตอรี่ที่มาพร้อมกล้องที่ช่องนี้ ใส่แบตเตอรี่โดยให้ขั้วแบตเตอรี่หันเข้าด้านในบอดี้กล้อง

5: รูยึดขาตั้งกล้อง

รูด้านล่างของบอดี้กล้องมีไว้สำหรับยึดกล้องเข้ากับขาตั้งกล้องที่มีวางจำหน่ายทั่วไป ขนาดของสกรูมีมาตรฐานเดียวกัน จึงใช้ด้วยกันได้ไม่ว่าขาตั้งกล้องยี่ห้อใด

6: ปุ่มปลดเลนส์

กดปุ่มนี้เมื่อต้องการถอดเลนส์ สลักล็อคเลนส์จะคลายออกเมื่อกดปุ่มนี้ ทำให้คุณหมุนเลนส์ได้อย่างไม่ติดขัด ก่อนถ่ายภาพ ให้ล็อคเลนส์อยู่กับที่โดยการหมุนเลนส์เข้าตำแหน่งจนได้ยินเสียง “คลิก”

7: ดัชนีสำหรับติดตั้งเลนส์

ใส่เลนส์โดยให้ตั้งแนวเครื่องหมายสีแดงบนตัวกล้องตรงกับเครื่องหมายบนตัวเลนส์ สำหรับเลนส์ EF ให้ใช้เครื่องหมายดัชนีสีแดง

8: แฟลชในตัว

คุณสามารถยิงแสงไฟแฟลชเพื่อการถ่ายภาพในสถานที่ที่มีแสงน้อยได้ เมื่อจำเป็น ในบางโหมด แฟลชอาจเปิดทำงานขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ

การแสดงผลบนช่องมองภาพ

1: จุด AF

ระบุตำแหน่งของโฟกัส ระหว่างการถ่ายภาพในโหมด AF (โฟกัสอัตโนมัติ) คุณสามารถเลือกจุด AF แบบอัตโนมัติหรือกำหนดเองก็ได้

2: ความเร็วชัตเตอร์

ระบุระยะเวลาในการเปิดชัตเตอร์ ค่าความเร็วชัตเตอร์จะแสดงในรูปแบบ “1/พารามิเตอร์” อย่างไรก็ตาม ในช่องมองภาพจะแสดงเฉพาะค่าพารามิเตอร์ การเพิ่มค่าพารามิเตอร์จะลดระยะเวลาเปิดชัตเตอร์สั้นลง ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้ากว่า 1/4 วินาที จะแสดงดังนี้ เช่น 0''3, 0''4, 0''5, 0''6, 0''8, 1'' หรือ 1''3 ในกรณีนี้ 1"3 หมายถึง 1.3 วินาที

3: ค่ารูรับแสง

ค่านี้ระบุขอบเขตที่ม่านรูรับแสงภายในเลนส์เปิด ค่ายิ่งน้อย หมายถึง รูรับแสงยิ่งเปิดกว้างขึ้น แสงเข้ามาได้มากขึ้น ช่วงค่ารูรับแสงที่เลือกได้จะต่างกันไปตามเลนส์ที่ใช้

4: ความไวแสง ISO

การตั้งค่าความไวแสง ISO จะเปลี่ยนไปทันทีที่เลือกการตั้งค่าเป็นอัตโนมัติ ความไวแสง ISO สูงๆ ทำให้ถ่ายภาพในสถานที่ที่มีแสงน้อยได้ง่ายขึ้น

ด้านหลัง

1: ยางรองตา

ยางรองตาจะป้องกันไม่ให้แสงจากภายนอกเข้ามาที่ตาของคุณ ขณะที่กำลังมองผ่านเลนส์ใกล้ตา ยางรองตาทำจากวัสดุที่อ่อนนุ่มเพื่อให้ความสบายกับดวงตาและหน้าผาก

2: เลนส์ใกล้ตาที่ช่องมองภาพ

มองผ่านเลนส์ใกล้ตาเพื่อดูภาพที่ต้องการถ่าย นอกจากภาพที่เห็นจากหน้ากล้องแล้ว ในช่องมองภาพยังแสดงการตั้งค่าต่างๆ ของกล้องด้วย

3: ปุ่ม MENU

ใช้ปุ่มนี้เพื่อแสดงหน้าจอเมนู สำหรับการปรับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้อง หลังจากเลือกรายการเมนูแล้ว คุณจะสามารถปรับเปลี่ยนการตั้งค่ารายละเอียดต่างๆ ที่มีอยู่ในกล้องได้

4: หน้าจอ LCD

นอกจากการตั้งค่าถ่ายภาพตามที่แสดงในภาพนี้แล้ว หน้าจอ LCD ยังแสดงภาพที่ถ่ายไว้ รวมทั้งข้อมูลต่างๆ เช่น เมนู ได้เช่นกัน ทั้งนี้ คุณสามารถขยายภาพที่แสดงเพื่อตรวจดูรายละเอียดต่างๆ ได้ หากเป็นหน้าจอ LCD แบบปรับหมุนได้ จะสามารถปรับเปลี่ยนมุมของแผงหน้าจอได้ในระหว่างการถ่ายภาพ Live View ซึ่งจะทำให้การถ่ายภาพมุมต่ำหรือมุมสูงง่ายขึ้น

5: ปุ่ม Playback

ปุ่มนี้มีไว้สำหรับเปิดดูภาพที่ถ่ายแล้ว การกดปุ่ม Playback จะแสดงภาพล่าสุดที่คุณถ่ายหรือเปิดดูบนหน้าจอ LCD

6: ปุ่มลบ

ใช้ปุ่มนี้เพื่อลบภาพที่ไม่ต้องการ

7: ไฟแสดงการเข้าใช้ข้อมูล

ไฟนี้จะกะพริบเมื่อมีการถ่ายโอนข้อมูลภาพระหว่างกล้องและการ์ดหน่วยความจำ ห้ามเปิดฝาปิดช่องบรรจุแบตเตอรี่หรือการ์ดขณะที่ไฟติดอยู่ เพราะอาจทำให้กล้องทำงานผิดปกติได้

8: ปุ่ม SET/Multi-controller

ปุ่ม Multi-controller สามารถใช้เลื่อนรายการเมนูต่างๆ หรือเลื่อนไปยังตำแหน่งต่างๆ บนภาพขยายระหว่างที่เปิดดูภาพ ขณะที่ปุ่ม SET จะใช้เพื่อยืนยันการเลือก ในโหมดถ่ายภาพ ฟังก์ชั่นของปุ่มนี้จะเปลี่ยนไปตามไอคอนที่ระบุไว้

9: ลำโพง

เสียงจากภาพยนตร์ที่บันทึกสามารถเปิดฟังผ่านลำโพงได้ ระหว่างที่เล่นภาพยนตร์ ล้อควบคุมหลักจะใช้เพื่อปรับระดับเสียง ไม่เพียงเท่านั้น คุณยังสามารถเลือกและเปิดเล่นเสียงดนตรีแบ็คกราวด์จากหน้าจอเมนูได้อีกด้วย

10: ปุ่มเลือกจุดโฟกัสอัตโนมัติ

ใช้ปุ่มนี้เพื่อเลือกตำแหน่งที่จะกำหนดจุดโฟกัส (จุด AF) ระหว่างการถ่ายภาพในโหมด AF คุณสามารถเลือกจุด AF ใดก็ได้ด้วยตนเอง

11: ปุ่มเปลี่ยนโหมดการถ่ายภาพ Live View/การถ่ายภาพยนตร์

ใช้ปุ่มนี้เพื่อเปิดหรือปิดฟังก์ชั่น Live View การกดปุ่มนี้หนึ่งครั้งจะแสดงภาพ Live View บนหน้าจอ LCD และกล้องจะเตรียมพร้อมสำหรับการถ่ายภาพ Live View เมื่อต้องการบันทึกภาพยนตร์ ตั้งค่าโหมดถ่ายภาพไปที่ “การถ่ายภาพยนตร์” แล้วกดปุ่มนี้เพื่อเริ่มบันทึก กดอีกครั้งเมื่อต้องการหยุด

12: ปุ่มปรับแก้สายตา

ใช้ปุ่มนี้เพื่อปรับความชัดของช่องมองภาพให้ตรงกับสายตาของคุณ เมื่อต้องการปรับ ให้หมุนปุ่ม พร้อมกับมองผ่านช่องมองภาพไปด้วย

การตั้งค่าบนหน้าจอ LCD

1: โหมดการถ่ายภาพ

แสดงข้อความหรือไอคอนตามโหมดการถ่ายภาพที่คุณเลือกเมื่อคุณหมุนแหวนปรับโหมด

2: ความเร็วชัตเตอร์

แสดงระยะเวลาที่เปิดชัตเตอร์ การเพิ่มค่าพารามิเตอร์จะลดช่วงเวลาการเปิดชัตเตอร์ให้สั้นลง

3: การแสดงระดับแบตเตอรี่

กล้องจะแสดงระดับแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ด้วยรูปไอคอน ภาพนี้แสดงสถานะเมื่อแบตเตอรี่เต็ม และจะเปลี่ยนไปเมื่อระดับแบตเตอรี่ลดลง

4: จำนวนภาพที่ยังถ่ายได้

เป็นการบ่งบอกจำนวนภาพที่ยังถ่ายได้ จำนวนนี้จะเปลี่ยนไปตามความจุของการ์ดความจำที่ใช้ รวมถึงคุณภาพการบันทึกภาพที่เลือกด้วย

5: คุณภาพการบันทึกภาพ

จะแสดงคุณภาพการบันทึกภาพที่เลือกไว้ในปัจจุบัน ภาพไอคอนนี้เป็นการระบุสถานะเมื่อเลือกคุณภาพเป็นแบบ JPEG ขนาดใหญ่/ละเอียด

6: ความไวแสง ISO

ค่าความไวแสง ISO สูงๆ จะช่วยให้ถ่ายภาพในสถานที่ที่มีแสงน้อยได้ง่ายขึ้น โดยทั่วไป ค่า ISO 100 คือค่ามาตรฐาน ในการตั้งค่า ISO อัตโนมัติ กล้องจะเลือกค่าที่เหมาะที่สุดโดยอัตโนมัติตามแต่ฉากที่ถ่าย และคุณยังสามารถเลือกที่จะตั้งค่าความไวแสง ISO ได้ด้วยตนเอง

7: ค่ารูรับแสง

ค่านี้ระบุขอบเขตที่ม่านรูรับแสงภายในเลนส์เปิด ค่าตัวเลขยิ่งน้อย หมายถึง รูรับแสงยิ่งเปิดกว้างขึ้น แสงเข้ามาได้มากขึ้น ค่ารูรับแสงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ค่า f ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามเลนส์ที่ใช้

ด้านบน

1: สวิตช์เปลี่ยนโหมดโฟกัส

ใช้สวิตช์นี้ในการตั้งค่าโหมดโฟกัสไปที่โฟกัสอัตโนมัติ (AF) หรือแมนนวลโฟกัส (MF)

2: ไมโครโฟน

นี่คือไมโครโฟนในตัวกล้องสำหรับบันทึกเสียงในระหว่างถ่ายภาพยนตร์ ไมโครโฟนที่ใช้อาจเป็นแบบโมโนหรือสเตอริโอ ขึ้นอยู่กับรุ่นของกล้อง

3: จุดยึดสายคล้อง

ดึงปลายสายคล้องผ่านช่องของหูยึด ล็อคให้แน่น และดูให้แน่ใจว่าปลายสายทั้งสองข้างสมดุลกัน

4: ฐานเสียบแฟลช (Hot Shoe)

นี่เป็นขั้วสำหรับติดตั้งอุปกรณ์แฟลชเสริม ข้อมูลจะถูกถ่ายโอนระหว่างกล้องกับอุปกรณ์แฟลชผ่านทางหน้าสัมผัส ควรดูแลรักษาหน้าสัมผัสให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถยิงแสงแฟลชได้อย่างถูกต้องเมื่อต้องการใช้งาน

5: แหวนปรับโหมด

หมุนวงแหวนนี้เพื่อเลือกโหมดตามฉากที่คุณต้องการถ่าย โหมดการถ่ายภาพจะแบ่งเป็นสองโซนหลัก ได้แก่ Creative Zone และ Basic Zone
A: Creative Zone
โหมดการถ่ายภาพใน Creative Zone ช่วยให้ผู้ใช้เลือกและตั้งค่าฟังก์ชั่นตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้
B: Basic Zone
โหมดการถ่ายภาพใน Basic Zone กล้องจะเลือกการตั้งค่าที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ ตามฉากที่เลือกไว้

6: สวิตช์ปิดเปิด

ใช้สวิตช์นี้สำหรับเปิดและปิดกล้อง เมื่อเปิดกล้องทิ้งไว้ระยะหนึ่ง กล้องจะเปลี่ยนเป็นโหมดสแตนด์บายโดยอัตโนมัติเพื่อประหยัดพลังงานแบตเตอรี่ สำหรับกล้องบางรุ่น สวิตช์ปิดเปิดจะมาพร้อมกับไอคอนภาพยนตร์ตามที่เห็นจากภาพตัวอย่าง ซึ่งคุณจะสามารถเปลี่ยนเป็นโหมดการถ่ายภาพยนตร์ได้โดยตรง

7: ปุ่มตั้งค่าความไวแสง ISO

กดปุ่มนี้เพื่อปรับความไวแสงของกล้อง ความไวแสง ISO เป็นมาตรฐานสากลที่กำหนดตามความไวแสงของฟิล์มเนกาทีฟ

8: ล้อควบคุมหลัก

นี่เป็นล้อเลื่อนอเนกประสงค์ที่ให้คุณจัดการงานต่างๆ เช่น ปรับการตั้งค่าการถ่ายภาพ หรือเปิดข้ามภาพถ่ายที่เปิดดู

9: วงแหวนซูม

หมุนวงแหวนซูมเพื่อปรับเปลี่ยนทางยาวโฟกัส ทางยาวโฟกัสที่เลือกสามารถดูได้จากตัวเลขหรือเครื่องหมายดัชนีบนขอบล่างของเลนส์

10: วงแหวนโฟกัส

เมื่อกล้องอยู่ในโหมดแมนนวลโฟกัส (MF) ให้หมุนวงแหวนนี้เพื่อปรับโฟกัส ตำแหน่งของวงแหวนโฟกัสจะเปลี่ยนไปตามเลนส์ที่ใช้

แหล่งอ้างอิง:
     SNAPSHOT  (2014).  บทความเรื่องรู้จักส่วนต่างๆ ของกล้อง
     สืบค้นจาก https://snapshot.canon-asia.com/article/th/lesson-2-knowing-the-different-parts-of-the-camera


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น